อนาคตของโลกสิ่งทอและแฟชั่นยุคใหม่
ในปี 2017 มูลนิธิ ELLEN MACARTHUR ได้นำเสนอรายงาน A NEW TEXTILE ECONOMY - REDESIGNING FASHION'S FUTURE และนำเสนอแนวทางใหม่สำหรับโลกอุตสาหกรรมแฟชั่น คือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแนวทางที่ทั่วโลกนำมาใช้เพื่อนำอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นสู่ความยั่งยืน
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการเติบโตตามเศรษฐกิจของโลก ในช่วงปี 2000 – 2015 การผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เกิดจากการเพิ่มมากขึ้นของชนชั้นกลางทั่วโลก เกิดแบรนด์เสื้อผ้าที่เป็น Fast Fashion ซึ่งมีการออกแบบในประเทศหนึ่ง ผลิตในอีกประเทศหนึ่ง ขายไปทั่วโลกในอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมักจะราคาถูก ทำให้เสื้อผ้ากลุ่มนี้ใช้แล้วทิ้งเร็วมากขึ้น อายุการใช้งานเสื้อผ้าสั้นลง ในปี 2015 มีรายงานว่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเมื่อเลิกใช้งาน มีการนำมารีไซเคิลน้อยกว่า 1% ส่วนใหญ่ถูกนำไปฝังกลบหรือเผา (ประมาณ 73%)
รูปภาพ : https://ellenmacarthurfoundation.org/a-new-textiles-economy
ระบบการผลิตเสื้อผ้าในปี 2017 ส่วนมากมักจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม สารเคมีที่ใช้ในการผลิตมีอันตรายส่งผลต่อสุขภาพของคนงานและผู้บริโภค ไมโครพลาสติกที่หลุดออกจากเสื้อผ้าในขณะซักทำความสะอาดก็อาจไหลลงสู่มหาสมุทร ในปี 2015 อุตสาหกรรมสิ่งทอปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas, GHG) เท่ากับ 1.2 พันล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มากกว่าการบินระหว่างประเทศรวมกับการขนส่งทางเรือ การผลิตสินค้าสิ่งทอ 1 ตันทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 17 ตัน สูงกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือกระดาษหลายเท่าตัว นอกจากนี้การผลิตสิ่งทอยังส่งผลต่อการใช้น้ำ การใช้สารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งล้วนแต่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
รูปภาพ : https://ellenmacarthurfoundation.org/a-new-textiles-economy
ถึงเวลาเปลี่ยนอุตสาหกรรมสิ่งทอไปสู่ระบบที่ให้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น รายงาน A NEW TEXTILE ECONOMY - REDESIGNING FASHION'S FUTURE นำเสนอวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่จะนำอุตสาหกรรมไปสู่ความยั่งยืน และแนวทางตามหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประกอบด้วย 4 หลักการ ดังนี้
รูปภาพ : https://ellenmacarthurfoundation.org/a-new-textiles-economy
1.เลิกใช้สารอัตรายและวัสดุที่ปล่อยไมโครพลาสติก
เป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นว่าวัสดุที่ใช้เป็นวัตถุดิบนั้นต้องปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แนวปฏิบัติที่จะทำให้วัสดุที่ใช้ปลอดภัยในรายงานได้นำเสนอแนวทาง ได้แก่
1) อุตสาหกรรมมีความร่วมมือกันในแง่นวัตกรรมที่จะทำให้มีวงจรของวัสดุที่ปลอดภัย
2) ลดการปลดปล่อยไมโครพลาสติกลง
2. ทำให้เสื้อผ้าสามารถใช้งานได้นานมากขึ้น
เพิ่มอายุเฉลี่ยของการใช้งานเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้น ด้วยการออกแบบและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี ทนทาน แนวทางปฏิบัติที่แนะนำจะทำให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่
1)บริการให้เช่าเสื้อผ้าที่มีการใช้งานช่วงสั้นๆ เช่น เสื้อผ้าเด็ก
2)เสื้อผ้าที่ผลิตควรจะมีคุณภาพที่ดี ทนต่อการใช้งาน แม้ว่าจะผ่านการใช้งานแล้วสามารถที่จะนำไปขายเป็นเสื้อผ้ามือสองได้
3)แบรนด์ควรจะมีความมุ่งมั่นและนโยบายที่จะทำให้เสื้อผ้าสามารถเพิ่มระยะเวลาการใช้งานให้ยาวนานมากขึ้น
3. เปลี่ยนผ่านเข้าสู่การรีไซเคิลอย่างสิ้นเชิง
ด้วยการออกแบบ การสร้างคอลเลคชั่น และกระบวนการผลิตซ้ำ การเพิ่มอัตราการรีไซเคิลเป็นการทำให้วัสดุมีการใช้งานอย่างคุ้มค่า เป็นโอกาสที่จะทำให้วัสดุมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐที่สูญเสียไปในแต่ละปีกลับมาเป็นวัตถุดิบใหม่ ลดผลกระทบจากการทิ้งทำลายวัสดุเหล่านี้ แนวปฏิบัติที่แนะนำ มี 4 แนวทาง ได้แก่
1) จัดการให้การออกแบบเสื้อผ้าและการรีไซเคิลพัฒนาร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพการรีไซเคิลให้มากขึ้น และพัฒนาวัตถุดิบใหม่จากการรีไซเคิล การจัดการนี้จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีในการติดตามและสอบย้อนกลับ (tracking and tracing technologies) เพื่อช่วยในการจำแนกวัสดุในกระบวนการรีไซเคิล
2) นำนวัตกรรมที่จะทำให้การรีไซเคิลมีคุณภาพที่ดีและคุ้มค่า การพัฒนาวัสดุที่ได้จากการรีไซเคิลยังต้องมีการพัฒนาอีกมากเพื่อให้ได้วัสดุมีคุณภาพที่ดีและคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการแบ่งปัน เทคโนโลยี การลงทุนในการพัฒนาระบบการแยกวัสดุจนกว่าระบบของการติดตามและการสอบย้อนกลับจะมีการพัฒนาขึ้นมา
3) การกระตุ้นความต้องการของวัสดุรีไซเคิล การเพิ่มความต้องการวัสดุรีไซเคิลผ่านการจับคู่ระหว่างคู่อุปสงค์และอุปทานด้วยความโปร่งใส่ และเพิ่มช่องทางการสื่อสาร ตลอดจนนโยบายที่ชัดเจน จะช่วยกระตุ้นความต้องการใช้วัสดุรีไซเคิลให้มากขึ้น
4) การเก็บรวบรวมเสื้อผ้าให้มีปริมาณมากขึ้น ในกระบวนการรีไซเคิลจำเป็นที่จะต้องมีปริมาณของวัสดุที่มากเพียงพอ การทำคำแนะนำการเก็บรวบรวมขยะเสื้อผ้ายังคงมีการวิจัยพัฒนาต่อไปเพื่อให้มีระบบการรวบรวมที่เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งจะช่วยทำให้การรวบรวมเสื้อผ้าสามารถจะเพิ่มปริมาณได้
4. การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเลือกการใช้ทรัพยากรที่สามารถเกิดใหม่ได้มาใช้ในกระบวนการ
แนวทางสำหรับสิ่งทอและแฟชั่นยุคใหม่จำเป็นที่จะต้องลดการใช้ทรัพยากรใหม่ด้วยการใช้งานเสื้อผ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเพิ่มการรีไซเคิล อย่างไรก็ดีวัสดุใหม่ (virgin material)ที่นำเข้าสู่กระบวนการยังคงมีความต้องการอยู่เป็นเพราะวัสดุประเภทนี้ยังไม่มีการรีไซเคิล ซึ่งแนะนำให้เลือกใช้ทรัพยากรประเภทที่สามารถเกิดใหม่ได้ (renewable resources) มาใช้ในกระบวนการ
บทสรุปการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นจะทำให้เสื้อผ้าและวัสดุสิ่งทอหมุนกลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนหลังการใช้งาน และไม่มีวันกลายเป็นขยะที่จะต้องทำลายทิ้งอีกต่อไป ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายส่วน ทั้งในด้านการออกแบบ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมาช่วยในการรวบรวมเสื้อผ้าและการรีไซเคิล ตลอดจนการกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคในการใช้สินค้ารีไซเคิลหรือการลดการใช้เสื้อผ้าใหม่ โดยยอมรับการซื้อเสื้อผ้ามือสองและซ่อมแซมเสื้อผ้าให้กลับมาใช้ใหม่ได้นานขึ้น โดยต้องมีความร่วมมือทั้งภาครัฐ ผู้ผลิต และภาคประชาชนในการนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรม
อ้างอิง : https://ellenmacarthurfoundation.org/a-new-textiles-economy
ดาวน์โหลด A New Textiles Economy_ Redesigning fashion_s future.pdf