BIGBAG ‘วาวา แพค’ จากทอกระสอบ สู่ กระเป๋าแฟชั่นรักษ์โลก
กว่าจะเป็น ‘วาวา แพค’ ผู้เปลี่ยนเศษผ้า เศษกระสอบพลาสติกเหลือทิ้งเป็นกระเป๋าแบบคูลๆ กับจุดเริ่มจากการมองหาโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งโดยรูปแบบอาจจะไม่ได้แตกต่างจากเส้นทางธุรกิจอื่นๆ ทว่าความน่าสนใจก็อยู่ตรงแนวคิดและการวาง Position และ Business Model ที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้อยู่เสมอ
คุณทิฆัมพร ชัยเอี่ยม กรรมการผู้จัดการ บริษัท วาวา แพค จำกัด กล่าวว่า ทำธุรกิจผลิตถุงกระสอบจัมโบ้ (FIBC) เพื่อการจัดเก็บ เคลื่อนย้าย และการขนส่งที่สะดวก ตอบโจทย์งานของลูกค้าได้อย่างหลากหลาย โดยเริ่มธุรกิจเมื่อปี 2540 มองเห็นโอกาสจากการจำหน่าย ‘ถุงจัมโบ้’ มือสองที่ทำจากพลาสติก PE (Polyethylene) และพลาสติก PP (Polypropylene) ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสต๊อกสินค้า และการขนส่งสิ่งของแบบแห้ง อาทิ น้ำตาลทราย ปุ๋ย เม็ดพลาสติก
ภายหลังจำหน่ายถุงจัมโบ้มือสองมาสักระยะ และเริ่มมองเห็นโอกาสธุรกิจ เนื่องจากลูกค้าสามารถนำถุงจัมโบ้ไปใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บสินค้าได้ครั้งละมากๆ ประหยัดพื้นที่ จัดเก็บที่ง่ายและสะดวก แต่สินค้าบางประเภทอาจจะใช้ถุงกระสอบมือสองไม่ได้ ซึ่งต่อมาได้เริ่มศึกษาข้อมูลการผลิตและตัดเย็บถุงกระสอบจัมโบ้ จากนั้นก็เริ่มซื้อผ้ากระสอบมาตัดเย็บเองแล้วนำไปขายเสนอให้ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ นำไปสู่การก่อตั้งโรงงานผลิตถุงกระสอบ ถุงจัมโบ้ ในนาม บริษัท วาวา แพค จำกัด
“ขายกระสอบมือ 2 มาสักพัก ก็มีคนมาถามว่าไม่มีถุงใหม่เหรอ ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ก่อตั้งโรงงาน”
ลงทุนเทคโนโลยี เพิ่มกำลังผลิต สร้างโอกาสการค้า
คุณทิฆัมพร บอกว่า ช่วงแรกจะเป็นแค่การซื้อผ้ากระสอบมาเย็บเอง เริ่มจากถุงจัมโบ้ โดยออเดอร์รายแรกสั่งถุงจัมโบ้ 30 ใบ ต่อมาก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนการมองหาเทคนิควิธีการเย็บที่เร็วกว่าเดิม และเริ่มมีออเดอร์เพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การศึกษาเรื่องการจัดซื้อเครื่องจักรเพื่อมาลดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย เนื่องจากต้นทุนผ้ากระสอบที่สั่งซื้อมาแบบสำเร็จมีต้นทุนที่สูงกว่าผู้ผลิตรายอื่น
รวมทั้งการไปซื้อผ้ากระสอบมาจากผู้ผลิตรายอื่น บางขณะอาจไม่สามารถกำหนดเวลาการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าได้อย่างแน่นอน จึงเลือกที่ลงทุนในส่วนของเครื่องทอกระสอบ โดยเดินทางไปดูเครื่องจักรที่ไต้หวัน และเครื่องจักรเครื่องแรกที่ซื้อก็ยังเป็นมือสองอยู่ แต่ก็เป็นการปรับธุรกิจมาสู่การทอผ้ากระสอบเอง กระนั้นช่วงแรกก็ยังต้องซื้อเส้นใยมาผลิตถุงกระสอบจากผู้ผลิตรายอื่นอยู่ดี
“ตอนแรกเป็นการจักรเย็บ แต่การซื้อผ้ามาจากรายอื่น เราจะกำหนดเวลาได้ไม่แน่นอน เพราะว่าบางทีก็ต้องดูออเดอร์เขาก่อน ถ้าเกิดเขามีกำลังผลิตเหลือ เขาถึงจะมาทอให้เรา มันก็จะทำให้เราช้าลงด้วย แล้วอีกอย่างหนึ่งคือต้นทุนก็จะแพงขึ้น ก็เลยเริ่มว่าไปศึกษาเครื่องทอ ก็เริ่มจากเครื่องจักรมือ 2 แล้วค่อยๆพัฒนา จนมาถึงจุดที่เราทำได้อย่างครบวงจรในปัจจุบัน”
ตลาดกระสอบ ไม่ง่าย คู่แข่งเลยน้อย
เป็นที่ทราบดีว่า ตลาดบรรจุภัณฑ์เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีการแข่งขันสูง และเกิดสมรภูมิราคาอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ตลาดที่ง่ายๆ อย่างที่คิด คุณทิฆัมพร บอกว่า จริงๆ แล้ว ธุรกิจที่ทำอยู่นี้ค่อนข้างยาก การผลิตถุงใบเล็กจะต่างจากการผลิตถุงจัมโบ้ตรงการเย็บ ถ้าอย่างถุงใบเล็กสามารถใช้เครื่องจักรทำได้เลย แต่ถุงจัมโบ้จะยากตรง รายละเอียดการเย็บของกระสอบแต่ละราย แต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่การนำไปใช้งานของลูกค้า
ดังนั้น ก่อนที่จะขายสินค้าให้ลูกค้าได้ ก็ต้องทำตัวอย่างเพื่อที่จะให้ได้ทดลองดูว่าถุงที่เย็บมาใช้ได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า ธุรกิจนี้ยังมีคู่แข่งน้อยเพราะสินค้าทำได้ยากหน่อย แล้วงานก็เน้นเรื่องบริการ ทั้งการให้คำแนะนำสำหรับลูกค้าแต่ละรายทั้งก่อนและหลังการขาย โดยปัจจุบันให้บริการลูกค้ารายใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมหลักต่างๆ รวมทั้งผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดร้อยละ 90 เป็นลูกค้าของวาวา แพค
“ถุงจัมโบ้ของ วาวา แพค เหมือนเป็น Product to Service สำหรับลูกค้าในการหาโซลูชันการจัดเก็บสินค้า วัตถุดิบได้ดีขึ้น ได้เยอะขึ้น ประหยัดพื้นที่ และยังสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย โดยเน้นการเข้าหาลูกค้าโดยตรง และถ้าบางครั้งเซลล์ยังไม่ชำนาญ ก็จะมีฝ่าย R&D ไปพบลูกค้าด้วยกันเลย เพื่อรับทราบความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง รูปแบบงานจึงต้องทำงานร่วมกับลูกค้า เพราะไม่ใช่แค่ผลิตถุง ต้องเข้าใจเรื่องโลจิสติกส์ของลูกค้าด้วย”
Zero Waste เปลี่ยนขยะเป็นกระเป๋า ‘VAVA Z’
มิติด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องมีการปรับตัว ด้วยเหตุนี้ วาวา แพค ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพลาสติก และเส้นใยต่างๆ จึงมีแนวคิด ‘Upcycle’ โดยการนำขยะเหลือทิ้งที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่จะมีเศษผ้าเหลือ หรือส่วนที่ไม่ผ่าน QC ก็มีอยู่มากพอสมควรเลยนำมาเย็บเป็นกระเป๋า
คุณทิฆัมพร บอกว่า ช่วงแรกก็แค่ทดลองก่อน โดยการนำเศษผ้ากระสอบมาเย็บเป็นกระเป๋า แต่ปรากฏว่าเมื่อนำไปโชว์ในงานแสดงสินค้าต่างๆ เกิดกระแสตอบรับดีทีเดียว เลยมีการต่อยอดโดยมีทีมออกแบบกระเป๋าซึ่งจะเป็นอีกธุรกิจของวาวา แพค โดยมีการสร้างแบรนด์กระเป๋าใหม่เรียกว่า ‘VAVA Z’ เน้นทำธุรกิจที่เป็นเทรนด์โลก
จากแนวทางดังกล่าว ปัจจุบันก็มีโครงการรีไซเคิลขยะร่วมกับบริษัทอื่นด้วย เพื่อที่จะลดขยะเหลือทิ้งจากโรงงาน อาทิ เขามีถุง มีอะไรที่เขาไม่ใช้แล้ว หรือเศษผ้าที่ตัดทิ้ง เขาก็ส่งมาเข้าร่วมโครงการกับ วาวา แพค เพื่อให้เรานำขยะเหลือทิ้งมาทำเป็นกระเป๋า แล้วส่งคืนให้นำไปแจกพนักงาน หรือไปแจกลูกค้าของต่อไป รวมทั้งการทำ Marketing โดยขายกระเป๋าผ่านช่องทางออนไลน์ที่เป็นช่องทางหลักในปัจจุบัน
“ทั้งสอง Business เลยแยกออกไปชัดเจน คือกระเป๋ามันออกไปเป็น Consumer มากกว่า เป็นรายลูกค้าเล็ก แต่วาวาแพคมันจะเป็นลูกค้ารายอุตสาหกรรม”
นอกจากเป็นการลดขยะ (Waste) พลาสติก เศษผ้า ถุงพลาสติกเหลือทิ้งในโรงงานประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือจะมีคนในชุมชนละแวกโรงงานที่ต้องการทำงานที่บ้าน ก็สามารถนำถุงกระสอบไปเย็บเป็นกระเป๋าที่บ้านได้เลย ส่วนหนึ่งเลยเกิดเป็นการสร้างงานให้ชุมชนใกล้เคียงด้วย ที่สำคัญคือทำให้ที่โรงงานไม่มีขยะหรือของเสียที่เหลือทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์
คุณทิฆัมพร บอกว่า การนำมาถุงมาใช้ซ้ำ หรือนำกลับมารีไซเคิลเป็นแนวคิดที่ ‘VAVA Z’ กำลังทำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ ในอนาคตอาจจะไม่ได้จำกัดเฉพาะการนำพลาสติกมารีไซเคิลหรือขึ้นรูปเพื่อใช้ใหม่ แต่ยังมุ่งเน้นการ Upcycle ทั้งหมดในวาวาแซด ซึ่งไม่จำกัดอยู่แค่กระเป๋า หรือการรีไซเคิลถุงกระสอบ
อย่างไรก็ตาม ด้วย Business Model ของ ‘VAVA Z’ ที่เพิ่งจะเริ่มต้นมาได้เพียง 2 ปี ลูกค้ายังจำกัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ในอนาคตคุณทิฆัมพร เชื่อว่าจะมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เพราะเทรนด์โลกไปทางนี้ ดังนั้นธุรกิจจึงจะปรับไปในทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจที่เป็นมิตรต่อโลกมากยิ่งขึ้น ส่วนธุรกิจ ผลิตถุงกระสอบครบวงจรก็พยายามที่จะปรับไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรและใส่ใจต่อโลกให้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน
รายละเอียดเพิ่มเติม :
https://www.vavapack.com/
https://www.facebook.com/VAVAPACKKORAT/
Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333
ที่มา : https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.2863.1.0.html