นวัตกรรมเส้นใยจากใบอ้อยสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นจากธรรมชาติ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครสุดเจ๋ง พัฒนาเส้นใยอ้อย ของเสียทางการเกษตรเป็นเส้นใยใหม่ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
ไร่อ้อย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สู่ชุมชน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม จากปัญหามลพิษจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานได้ตระหนักและให้ความสำคัญ ในขณะที่นักวิจัยเองก็พยามคิดค้นนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบเหล่านี้
ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยใบอ้อยก็เป็นอีกนวัตกรรมที่ ดร.ศรัณย์ จันทร์แก้ว อาจารย์คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ทำการวิจัยได้นำองค์ความรู้สู่กระบวนการแปรรูปเส้นใยจากใบอ้อยมาสร้างมูลค่าเพิ่มสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอหลายแบบ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ HANDMADE โดยมีการดีไซน์รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัย ซึ่งขณะนี้มีการขยายผลต่อยอดองค์ความรู้ไปอย่างแพร่หลายในหลายชุมชน สามารถสร้างรายได้เสริมศักยภาพเศรษฐกิจในชุมชน และนวัตกรรมนี้เป็นหนึ่งใน 50 ชิ้นงานที่นำมาแสดงที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เนื่องในโอกาสวันสถาปนาครบรอบ 63 ปี เมื่อวันที่ 25-28 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยใบอ้อย
การเลือกวัตถุดิบใบอ้อยที่นำมาแปรรูปจะใช้ใบที่ไม่อ่อนหรือแห้งจนเกินไปจากนั้นดึงก้านออกก่อนนำไปหมักเป็นเวลา 4 เดือน สำหรับพันธุ์อ้อยที่นิยมนำใบมาใช้คือ พันธุ์ขอนแก่น สุพรรณบุรี และลำปาง โดยเฉพาะพันธุ์ขอนแก่นจะมีลักษณะใบใหญ่หนา ไฟเบอร์เยอะ เมื่อครบระยะเวลาหมักจะนำมาปั่นผสมกับฝ้ายจากนั้นนำไปย้อมสีธรรมชาติใช้เวลาต้มประมาณ 30 นาที สาเหตุที่นำมาปั่นทอผสมกับฝ้ายจะทำให้เนื้อผ้านุ่มเป็นเงางาม นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์หลายประเภททั้งเสื้อผ้า กระเป๋า หมวก รองเท้า โดยมีการออกแบบดีไซน์ให้เป็นไปตามแฟชั่นที่ตลาดต้องการ
ปัจจุบันนี้ได้รับความสนใจจากชาวบ้านมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ทำผลิตภัณฑ์สิ่งทอ จากเส้นใยใบอ้อย อย่างเช่นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทอผ้า ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว จากเดิมทำผ้าทอขายได้เมตรละ 100 บาท เมื่อเสริมด้วยนวัตกรรมการพัฒนาเส้นใยจากใบอ้อย ผ้าที่ทอสามารถขายได้ในราคาเมตรละ 350-600 บาท โดยในปัจจุบันได้เปิดจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ภายใต้ ชื่อแบรนด์ NATHA
อ้างอิง : https://www.agrinewsthai.com/agricultural-technology/38799?fbclid=IwAR2nt8OJkBBOvtkl1zC1DneEw7vIiOGONd5snBtdULJbEA2iI3L0ZqfpIjM