เทรนด์สินค้าและบริการแบบหมุนเวียนในอนาคตของสหภาพยุโรปและการปรับตัวเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน

อื่นๆ
11/08/2566     |     อ่าน : 174 ครั้ง

เทรนด์สินค้าและบริการแบบหมุนเวียนในอนาคตของสหภาพยุโรปและการปรับตัวเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน

เทรนด์สินค้าและบริการแบบหมุนเวียนในอนาคตของสหภาพยุโรปและการปรับตัวเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน

จากเทรนด์รักษ์โลกและการบรรลุสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สหภาพยุโรปได้ตั้งไว้ภายในปี 2030 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคจะปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของตนไปสู่ทุนใหม่มูลค่าหลายพันล้านยูโร สินค้าแต่ละกลุ่มจะมีปัจจัยในการขับเคลื่อนการเติบโตที่เฉพาะเจาะจงและแตกต่างกันซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้บริโภค ปัจจัยและตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนของสินค้าแต่ละประเภทสามารถสรุปได้ดังนี้
• สินค้าแฟชั่นและสินค้าหรูหรา > ตลาดสินค้าแฟชั่นและสินค้าหรูหราแบบหมุนเวียนจะขยายตัวจาก 115 พันล้านยูโรไปเป็น 200 พันล้านยูโรในปี 2030 โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักจะมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้ารีไซเคิลและสินค้าที่ผลิตอย่างยั่งยืนมากถึง 10 เท่า ผ่านการใช้เส้นใยสังเคราะห์รีไซเคิล (recycled synthetic fibers) หรือเส้นใยทางเลือกอื่นที่รีไซเคิล เช่น เส้นใยเซลลูโลสธรรมชาติหรือเส้นใยที่มนุษย์สร้างขึ้น (man-made cellulose fibers) ผู้เล่นชั้นนำจะใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น การใช้วิธีทางเคมีในการรีไซเคิลเพื่อเพิ่มความพร้อมใช้งานและคุณภาพของเส้นใยรีไซเคิล ในขณะที่สินค้าใช้แล้ว (used) มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 2 ถึง 3 เท่า จากการนำสินค้ามาขายต่อ (resale) และได้แรงหนุนจากแพลตฟอร์มออนไลน์ B2C (business-to-customer), C2B2C (consumer-to-business-to-consumer) และ C2C (consumer-to-consumer) ส่วนการเติบโตของสินค้าในกลุ่มซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ (refurbished) คาดว่าส่วนใหญ่จะมาจากสินค้าพรีเมียมและสินค้าหรูหราหรือสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นหลัก ซึ่งผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับคุณภาพและสภาพดั้งเดิมของสินค้าเป็นพิเศษ
• อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า > ตลาดสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หมุนเวียนจะขยายตัวจาก 65 พันล้านยูโรถึง 90 พันล้านยูโรในปี 2030 โดยแรงหนุนหลักมาจากสินค้าซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ (refurbished) โดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป และแท็บเล็ต ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง สินค้าแบรนด์ขนาดเล็กในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านก็มีการขยายตัวจากสินค้ากลุ่มพรีเมี่ยม ในขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขนาดใหญ่ (เช่น ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า) จะมีปัจจัยเรื่องค่าขนส่งที่สูงเป็นอุปสรรค ทำให้สินค้าเหล่านี้เหมาะกับการให้บริการบำรุงรักษา (maintenance) และซ่อมแซม (repair) มากกว่านำไปซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ (refurbish) สำหรับการเติบโตของการผลิตสินค้าอย่างยั่งยืนจะขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เล่นชั้นนำในการรีไซเคิลส่วนประกอบและวัสดุ (เช่น อลูมิเนียม พลาสติก และแก้ว ไปจนถึงแร่หายาก) ได้ 100% ในปริมาณมากหรือไม่ โดยยังคงคุณสมบัติและคุณภาพของวัสดุเหล่านั้นไว้ได้ นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันไปยังนักออกแบบและผู้ผลิตสินค้าในการพัฒนาความสามารถในการซ่อมแซมและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของสินค้าในกลุ่มนี้
• สินค้าสำหรับบ้านและที่อยู่อาศัย > ตลาดสินค้าสำหรับบ้านและที่อยู่อาศัยแบบหมุนเวียนจะขยายตัวจาก 35 พันล้านยูโรไปถึง 45 พันล้านยูโรในปี 2030 โดยมีแรงหนุนจากเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตอย่างยั่งยืนโดยใช้ไม้ที่ผ่านการรับรองจาก Forest Stewardship Council (FSC) และเครื่องใช้ในบ้านที่มีส่วนประกอบของเส้นใยสังเคราะห์รีไซเคิลหรือวัสดุทางเลือกในสัดส่วนที่สูง ส่วนการนำสินค้ากลุ่มนี้มาขายต่อนั้นส่วนใหญ่จะผ่านแพลตฟอร์ม C2C เป็นหลัก ในขณะที่การซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ จะเป็นเฟอร์นิเจอร์ระดับพรีเมียม บ้านหรู และเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน
• สินค้าด้านกีฬา > ตลาดสินค้าด้านกีฬาแบบหมุนเวียนจะขยายจาก 30 พันล้านยูโรถึง 50 พันล้านยูโรในปี 2030 มาจากผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและรองเท้าที่ผลิตอย่างยั่งยืนและจากการรีไซเคิล ในส่วนของการซ่อมแซมปรับปรุง การขายต่อ และการเช่ามีการเติบโตที่แข็งแกร่งจากอุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์เสริม (เช่น การเช่าสกีและบอร์ดสำหรับกีฬาต่าง ๆ) โดยตลาดของอุปกรณ์จากการซ่อมแซมปรับปรุงใหม่และอุปกรณ์ที่ใช้งานแล้วมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการลองเล่นกีฬาชนิดใหม่แต่ก็คำนึงถึงต้นทุนและความยั่งยืนมากขึ้น
• สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันที่ใช้แล้วหมดไป (Fast-moving consumer goods: FMCG) > ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคแบบหมุนเวียนจะขยายตัวจาก 85 พันล้านยูโรไปเป็น 140 พันล้านยูโรในปี 2030 เป็นผลมาจากความสามารถของผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าที่มีความยั่งยืนในบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 100% และ/หรือสามารถนำมาเติมซ้ำได้ (refill) โดยจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับส่วนประกอบ กระบวนการการผลิต และบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กบางแบรนด์อาจประสบปัญหาในการหาปัจจัยการผลิตหลัก เช่น พลาสติกรีไซเคิล ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า 70% ของผู้บริโภคไม่ต้องการประนีประนอมกับคุณภาพและความสามารถในการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น สูตรแห่งชัยชนะน่าจะเป็นสินค้าที่ตรงตามเกณฑ์ทั้ง “ดีกว่าสำหรับโลกใบนี้ (better for the planet)” และ “ดีกว่าสำหรับฉัน (better for me) “
• สำหรับการเติบโตของสินค้าอื่น ๆ จะมาจากหนังสือและของเล่นที่ผลิตอย่างยั่งยืน โดยใช้ไม้ที่ได้รับรองจาก FSC พลาสติกรีไซเคิลและเส้นใยรีไซเคิล รวมถึงพลาสติกทางเลือกจากธรรมชาติและเส้นใย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วจะเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากหนังสือออนไลน์ วิดีโอเกม และแพลตฟอร์มการขายสินค้าต่อ แต่สำหรับของเล่นมีแนวโน้มความต้องการลดลงเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย สำหรับสินค้า DIY ที่ใช้แล้วและที่ผ่านการซ่อมแซมปรับปรุงใหม่จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือไฟฟ้าและสินค้าบางรุ่นสำหรับเช่า
• นอกจากสินค้าแบบหมุนเวียน (circular products) แล้ว การให้บริการแบบหมุนเวียน (circular services) ก็พบว่ามีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การให้บริการบำรุงรักษาและซ่อมแซม เช่น การซ่อมแซมเสื้อผ้า การเปลี่ยนแบตเตอรี่ และการให้บริการอุปกรณ์กีฬา ตลาดการให้บริการแบบหมุนเวียนจะเติบโตขึ้นจาก 50 พันล้านยูโรไปสู่ 70 พันล้านยูโรในปี 2030 ผ่านแรงหนุนจากผู้ให้บริการที่ดำเนินงานแบบเชิงปริมาณ โดยที่แบรนด์หรือผู้ค้าปลีกจะเป็นแนวหน้า ควบคู่ไปกับผู้ให้บริการเฉพาะทาง เช่น ช่างตัดเสื้อหรือร้านซ่อมสมาร์ทโฟน รวมไปถึงการช่วยให้ผู้บริโภคสามารถซ่อมแซมด้วยตัวเองผ่านการให้คู่มือและอะไหล่สำรอง ปัจจัยที่ช่วยเพิ่มความต้องการบริการซ่อมแซมอาจต้องได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐมากขึ้น

ก้าวต่อไปของบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค > จากกฎระเบียบและความต้องการของผู้บริโภคที่ผลักดันการเติบโตของโมเดลธุรกิจหมุนเวียน ดังนั้น การเข้ามามีส่วนร่วมนั้นอาจไม่ใช่แค่ทางเลือกอีกต่อไปแต่กลายเป็นความจำเป็นที่ต้องทำมากขึ้น สิ่งที่บริษัทควรหลีกเลี่ยงคือการดำเนินธุรกิจที่สวนทางกับความยั่งยืนและควรมองหาหนทางในการสร้างมูลค่าแทน กล่าวคือ บริษัทควรต้องเปลี่ยนมาดำเนินธุรกิจแบบเชิงรุกแทนการตั้งรับ โดยการเคลื่อนไหวเชิงรุก 4 ประการที่จะช่วยสนับสนุนการสร้างมูลค่า มีดังนี้

1) กลยุทธ์การลงทุน: กำหนดตำแหน่งในการดำเนินธุรกิจ โดยให้การสร้างมูลค่าเป็นเป้าหมายที่บริษัทควรดำเนินธุรกิจและวิธีจัดสรรเงินทุน บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคควรปรับเทียบพอร์ตการลงทุนไปยังกลุ่มและหมวดหมู่สินค้าที่มีโอกาสในการหมุนเวียนสูงสุด ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มขายสินค้าแฟชั่นของเยอรมนี “Zalando” มาพร้อมกับการเสริมการค้าปลีกด้วยธุรกิจขายต่อ “Zircle” ปัจจัยความสำเร็จ คือ ต้องมีความเข้าใจพลวัตของสินค้าแต่ละหมวดหมู่และแต่ละประเภทและจัดการกับความท้าทายอย่างมีกลยุทธ์ โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการร่วมกันทำงานและทิศทางของอุปสงค์ที่น่าจะเป็นไปได้

2) การสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือธุรกิจสีเขียว: การจับตลาดใหม่ สร้างธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ทั้งหมดโดยใช้ผลิตภัณฑ์และบริการหมุนเวียน ซึ่งอาจครอบคลุมโมเดลธุรกิจต่าง ๆ ตั้งแต่ D2C แบบดั้งเดิมไปจนถึง C2B2C และ C2C ตัวอย่างที่โดดเด่น คือ ธุรกิจในตลาดสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ซ่อมแซมและปรับปรุงใหม่ (refurbished electronics products) ปัจจัยความสำเร็จ คือ ข้อเสนอที่น่าสนใจและความมุ่งมั่นในการหาเงินทุนที่จำเป็นสำหรับสร้างข้อได้เปรียบคู่แข่ง

3) สินค้าพรีเมี่ยมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: เอาชนะในตลาดที่มีอยู่ สร้างความแตกต่างด้วยสินค้าหมุนเวียนและคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า (value proposition) ในตลาดที่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น Apple สามารถสร้างการเติบโตจากการส่งมอบข้อเสนอที่ขับเคลื่อนโดยผู้บริโภค ประสิทธิภาพ และความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่การรีไซเคิลและประหยัดพลังงาน ปัจจัยความสำเร็จ คือ การเชื่อมโยงความยั่งยืนกับคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าและการสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

4) การดำเนินงานและห่วงโซอุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: สร้างให้เกิดสินค้าอุปโภคบริโภคแบบหมุนเวียน โดยบริษัทต้องสร้างความแตกต่างอย่างมากให้กับมูลค่าตลอดอายุการใช้งานของสินค้าโดยการปรับปรุงความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินงาน ผ่านการผลิตและการขนส่งที่ยั่งยืน การรีไซเคิล การนำของเสียกลับคืนโดยการขนส่งแบบย้อนกลับ (take-back reverse logistics) การซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ และแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อยืดอายุการใช้งานของสินค้าและหาเจ้าของใหม่ให้กับสินค้าเก่า ตัวอย่างเช่น ธุรกิจแฟชั่นในสวีเดน Renewcell ร่วมกับ Beyond Retro สร้างโรงงานที่สามารถรีไซเคิลของเสียเส้นใยจากเซลลูโลส

ที่มา : https://thaiindustrialoffice.wordpress.com/2022/09/29/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81/

ข่าวสารความเคลื่อนไหว
เครือข่าย IWIN เปิดตัวโครงการ Circular Upholstery Textile เป้าหมายเพื่อเปลี่ยนเส้นทางของเสียจากหลุมฝังกลบกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล
Le Casino เปลี่ยนขยะเป็นโอกาสกับเส้นทางเดินของรองเท้ารักษ์โลก
ญี่ปุ่นตั้งเป้าขยายธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน
ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหภาพยุโรปสำหรับสิ่งทอที่ยั่งยืนและสิ่งทอหมุนเวียน
COP27 เริ่มแล้ว ประเด็นร้อนการหารือเรื่องการให้ชาติร่ำรวยต้องชดเชยให้กับชาติยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน
Marimekko นำร่องโครงการ Closed Loop โดยใช้วัสดุเหลือใช้
นวัตกรรมเส้นใยจากใบอ้อยสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นจากธรรมชาติ